วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

ประสบการณ์การเรียนต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา 2

กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับกับเรื่องราวการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับนี้จะพูดมาพูดกันถึงเรื่องมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาของอเมริกา มุมมองที่มีต่อเพื่อนต่างชาติ ประโยชน์ที่ได้รับจากการไปศึกษาต่อ และที่สำคัญคือขั้นตอนการสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัย และการเตรียมตัวก่อนเดินทาง
ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีและการสื่อสารในปัจจุบันจะทำให้การศึกษาของประเทศทั่วโลกมีคุณภาพที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น (Level the playing field) เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศจีนที่มีอัตราการผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรออกมามากที่สุดในโลกในตอนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอเมริกายังคงเป็นผู้นำทางด้านสถาบันการศึกษาและการวิจัยของโลกอยู่ (Educational and Research Institute) การที่อเมริกามีจำนวนงานวิจัย (Research Publication) มากที่สุดในโลกนั้น ทำให้มหาวิยาลัยอเมริกาได้รับงบประมาณ (Funding) ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาของอเมริกันนั้นเน้นมากในเรื่องของการให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น (Participatory) นักเรียนเกือบทุกคนพร้อมและกล้าที่จะยกมือแสดงความคิดเห็น (หรือปกป้องความเห็นของตน) และสนทนากันอย่างเสรีในชั้นเรียน ไม่ต้องกลัวว่าใครจะปล่อยไก่ อาจารย์ผู้สอนจะคอยตั้งคำถามในนักเรียนได้พยายามคิดนอกกรอบอยู่เสมอ (Think out of the box) และไม่เน้นทฤษฏีมากเท่ากับผลของการปฏิบัติ (Results-oriented) เวลาทำงานกันเป็นทีม ความเห็นของผู้ร่วมทีมทุกคนถือเป็นพระเจ้า ใครไม่แสดงความเห็นคือคนไม่ฉลาด นี่คือข้อดีอย่างมากของการศึกษาของอเมริกัน ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้จากอาจารย์ผู้สอนแล้ว ยังได้ฟังความคิดเห็นของนักเรียนคนอื่นอย่างกว้างขวาง ทำให้เด็กอเมริกันค่อนข้างจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่กว่าตัวมาก รวมทั้งมองอะไรจากหลายๆมุมเนื่องจากได้บริหารสมองส่วนการแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ยอมรับว่าตอนที่ไปเรียนช่วงแรกนั้น ก็รู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับระบบนี้เท่าไรนัก เราก็จะคล้ายๆกับเพื่อนๆชาวเอเซียตะวันออกและคนไทยคนอื่นๆ ที่มักเอาแต่นั่งหน้าใส แล้วก็จดเลคเชอร์อย่างเดียว class ไหนที่มีเด็กเอเซียเยอะก็จะค่อนข้างเงียบ ถามว่าทำไมจึงไม่พูดกัน ก็คงจะเป็นเพราะยังไม่มั่นใจทั้งในเรื่องของภาษา เพราะต้องพูดแบบค่อนข้างเป็นวิชาการ รวมทั้งไม่มั่นใจเกี่ยวองค์ความรู้เฉพาะด้านที่ยังถือว่าค่อนข้างใหม่กับตัวเรา
การศึกษาในระดับปริญญาโทที่ประเทศอเมริกานั้น ถือว่าต่างจากการศึกษาในระดับปริญญาตรีค่อนข้างมากครับ ปริญญาตรีจะเน้นการได้รับความองค์ความรู้จากอาจารย์ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และเรียนรู้เองประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปริญญาโทนั้น จะเน้นการได้รับความรู้จากอาจารย์แค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และเรียนรู้ด้วยตนเองอีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปริญญาเอกนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะถือว่าต้องสามารถผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆออกมาและเรียนรู้ด้วยตัวเองประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการศึกษาในระดับปริญญาโทจึงต้องอาศัยวินัยในการเรียนมากพอสมควร หน้าที่ของอาจารย์ไม่ใช่เข้ามาในห้องเรียนแล้วเล่าทุกอย่างที่ตนเองรู้ อาจารย์จะเป็นเพียงผู้ที่ถ่ายทอดและนำเสนอสิ่งที่มีความสำคัญ บอกเราว่าเนื้อหาอะไรที่เราจะต้องเน้นเป็นพิเศษ ใครคือผู้เขียนที่มีความสำคัญในสาขานั้นๆ บทความอะไรที่ควรจะต้องอ่าน แหล่งความรู้เพิ่มเติมอยู่ที่ใด หน้าที่ของเราผู้เป็นนักเรียนคือ ต้องทำการบ้านมาก่อนเข้าเรียน อ่านบทความและหนังสือที่อาจารย์สั่งให้อ่าน และทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ตอนแรกที่ไปใหม่ๆก็คิดว่า ไม่เห็นจำเป็นเลย เดี๋ยวไปนั่ง ชิว ชิว ฟังอาจารย์พูดในห้องก็ได้ ปรากฏว่า เอ๋อแด๊ก ไม่รู้เรื่องเลยครับท่าน อาจารย์ไม่เท้าความอะไรทั้งสิ้น มาถึงก็ถามเลยว่านักเรียนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบทความนั้นๆ แล้วใครจะไปรู้หละ ก็ไม่ได้อ่านมาสักหน้านี่ครับ หลังจากนั้นมาก็เลย ผมก็เลยต้องเริ่มขยันมากขึ้น จะได้เรียนรู้เรื่องเหมือนคนอื่นเขา
ประโยชน์ที่ได้รับจากการไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกายังมีอีกหลายข้อด้วยกันครับ เรื่องแรกก็คือการได้เรียนกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ที่เขียนหนังสือหรือบทความดังๆ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทใหญ่ๆในอเมริกา ทำให้เราได้รับมุมมองความคิดที่ทันสมัยและเป็นนวัตกรรทจากคนเหล่านี้มาเยอะเหมือนกัน นอกจากนั้นก็ยังได้มีโอกาสพบกับแขกที่มาบรรยาย (Guest Lecturer) ซึ่งมักจะเป็นผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกา อาธิเช่น Microsoft, Starbucks, Intel, IBM หรือ American Express มาเล่าประสบการณ์การทำงานจริงๆให้นักเรียนฟัง ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก แต่ประสบการณ์ที่ผมคิดว่าดีที่สุดก็คือการได้มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องแบ่งเวลาให้คนโน้นคนนี้มากเท่าตอนอยู่ที่เมืองไทย ทำให้มีเวลานั่นย้อนคิด (Time to reflect on yourself) เปรียบเทียบสิ่งที่กำลังเรียนอยู่กับงานจริงๆที่เราเคยทำ รวมทั้งย้อนมองตัวเองว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เรื่องหนึ่งที่ไม่เคยรู้เลย ก็คือราคาของหนังสือเรียน (Textbooks) ที่อเมริกานั้นแพงเอามากๆ ถ้าซื้อจากร้านขายหนังสือของมหาลัย บางเล่มเขาขายกันเป็นร้อยดอลลาร์ งบประมาณที่ ก.พ. ให้ไปก็แค่ปีละ 375 ดอลลาร์ เรียกได้ว่าไม่มีทางพอ ทางออกก็คือ ต้องซื้อ online จาก website ที่ขายหนังสือเช่น amazon.com หรือ half.com ซึ่งเป็นหนังสือมือสอง (หรือสาม…..) แต่สภาพยังน่าอ่านมากๆและมีราคาถูกกว่าประมาณ 3-4 เท่าตัว พอจบเทอมก็เอาไปขายต่อให้ผู้อื่นเป็นวิทยาทาน หรือถ้าชอบหนังสือเล่มนั้นมากๆก็ต้องยอมเก็บไว้ หลายๆคนคงคิดว่า แล้วทำไมไม่เอาไปถ่ายเอกสาร ก็ขอบอกเลยว่าค่าถ่ายเอกสารที่อเมริกาแพงมากๆและก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เขียนด้วย จะไปยืมอ่านในห้องสมุดก็อ่านได้ครั้งละไม่เกิน 2 ช.ม.เพราะถือว่าเป็นหนังสือเรียนที่ต้องเก็บไว้ในห้องสมุดให้ทุกคนได้อ่าน (On-reserve books)
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังก็คือเรื่องของมุมมองต่อเพื่อนนักเรียนต่างชาติ ผมเองก็ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติดีๆมาหลายคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือยุโรป (มีนักเรียนจากชาติเหล่านี้มากมายเหลือเกินในอเมริกา) ถึงแม้เราจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเหมือนๆกัน แต่ทว่าแต่ละชาตินั้นก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปอย่างชัดเจน คนอเมริกันนั้นจะตรงมาก ไม่ค่อยเกรงใจใคร คิดอย่างไรก็จะพูดอย่างนั้น ถือเป็นทั้งข้อดี (และข้อเสียสำหรับสังคมไทย) จะสนใจผลลัพท์ของงานมากกว่าวิธีการ คนอเมริกันจะค่อนข้างปัจเจกนิยม ผิวเผิน และไม่ค่อยจะสนใจความเป็นไปของวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อนอเมริกันที่ผมสนิทด้วยก็จะมีนิสัยค่อนข้างตรงกันข้ามกับที่ผมเอ่ยมาทั้งหมด ส่วนคนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น จะค่อนข้างคล้ายคนไทย แต่จุดเด่นคือเรื่องของความเป็นชาตินิยม (Nationalistic) จะยอมไม่ได้เลยหากใครจะบอกว่าไต้หวันเป็นรัฐอิสระ คนจีนนั้นเรียบร้อยและอนุรักษ์นิยมมากในเรื่องความคิด (เพราะเคยเป็นประเทศปิด) ดังนั้นจึงออกจะดูเชยๆ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคนจีนฉลาดมาก แต่มักจะถ่อมตน ดูสบายๆและไม่ขยันเรียนมากนัก เวลาทำข้อสอบมักจะบอกว่าทำไม่ได้ (แต่เห็นคะแนนดีตลอด) ส่วนคนจีนใต้หวันจะดูทันสมัยมากกว่าคนจีนเยอะโดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว คนอินเดียจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับคนจีนมากๆ คนอินเดียฃดูเหมือนมีพลังมาก ทะเยอทะยานตลอดเวลา ทำกิจกรรมเยอะและขยันเรียน คนอินเดียจะพูดเยอะในชั้นเรียน (เพราะพูดภาษาอังกฤษประหนึ่งภาษาแม่ ถึงแม้จะคนอื่นจะฟังไม่ค่อยออก) และอีกเช่นกันครับผมมีเพื่อนซี้ชาวอินเดียอยู่หนึ่งคนที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับที่เอ่ยมา คนจีนและคนอินเดียนั้นจะได้รับการยอมรับมากจากบรรดากลุ่มนายจ้าง (Employer) ในอเมริกามาก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้กำลังการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเวลาสมัครงานจึงเสมือนมีสิทธิพิเศษ นักเรียนญี่ปุ่นก็มาศึกษาต่อที่อเมริกากันมากเหมือนกันนะครับ นักเรียนญี่ปุ่นถือว่าอยู่อเมริกาได้อย่างสบายกระเป๋าเพราะค่าครองชีพที่อเมริกานั้นถือว่าต่ำกว่าที่ญี่ป่น คนญี่ปุ่นฉลาด น่ารัก ทันสมัยและปรับตัวเข้ากับอะไรง่าย มีบุคลิกร่าเริงตลอดเวลา ผมว่าคนเกาหลีใต้ก็ออกจะดูคล้ายๆคนญี่ปุ่นนี่ล่ะ สุดท้ายคือนักเรียนจากสิงค์โปร์ กลุ่มนี้จะดูเหมือนคนจีนทุกอย่าง แต่ดูจะทะเยอทะยาน พูดมากแพราะภาษาอังกฤษดี เหมือนเวอร์ชั่นคนอินเดียรวมกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวโดยสรุปแล้วผมว่าผมเข้ากับคนจีนและคนญี่ปุ่นได้ง่ายที่สุดครับ
คำถามหนึ่งที่ผมที่ผมได้รับจากบุคคลรอบข้างบ่อยมากก็คือ ไปล้างจานมาหรือเปล่า ก็อดขำไม่ได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ใม่เห็นมีนักเรียนไทยที่ไหนไปล้างจานกันสักคน คือว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆนะครับ เมื่อก่อนนี้เป็นเรื่องจริงครับที่นักเรียนไทยมักจะไปล้างจานเพื่อหารายได้พิเศษในยามว่าง แต่ตอนนี้พวกเขาได้ Upgrade ตัวเองขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว โดยหันกันไปเป็นเด็กเสิร์ฟกัน และอีกหลายคนก็ทำงานช่วยงานอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพื่อหารายได้พิเศษ (Research Assistant) ซึ่งผมเองก็ทำมาแล้วทั้ง 2 อย่าง ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามีปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ 2 ประการคือ จำนวนร้านอาหารไทยในอเมริกานั้นมีมากขึ้นเยอะ และการที่นักเรียนไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นในเรื่องของภาษาอังกฤษ ส่วนงานล้างจานในปัจจุบันนี้นั้นจะเป็นงานของคนเม็กซิกันเสียส่วนมาก (และเรามักเรียกพวกเขาว่าพี่ใต้) การทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารไทยนี่ถือว่าดีกว่าที่ผมคิดเอาไว้เยอะนะครับ เพราะอาหารการกินก็ฟรี รายได้ก็ถือว่าดีมาก (ถึงแม้จะต้องยืนตรากตรำกันทั้งวัน) รวมทั้งเจ้าของร้านก็ให้เกียรติพวกเราในระดับที่พอรับได้ อยากจะขอเล่าให้ฟังว่าประสบการณ์เปิ่นๆเกี่ยวกับการเสิร์ฟอาหารก็มีอยู่เยอะมากนะครับ เริ่มตั้งแต่วันแรกก็ทำแก้วน้ำหกใส่ลงไปที่เป้าของลูกค้าสุภาพสตรี โชคดีที่ไม่โดนเอาเรื่องเอาราว ดังนั้นอย่าคิดว่าการเป็นเด็กเสิร์ฟเป็นเรื่องง่ายนะครับ ต้องผ่านการฝึกอบรมหันเป็นเดือนเชียว กว่าจะให้ออกบินเดี่ยวได้ อ้อ!เดี๋ยวนี้ธรรมเนียมในการให้ทิปของฝรั่งเขาอยู่กันที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ของราคาอาหารกันแล้วนะครับ หากใครมีโอกาสไปเที่ยวอเมริกา อย่าเผลอไปให้ทิปแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เชียว รับรองมีหวังโดนค้อนแย่เลยนะครับ
เรื่องสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือ เรื่องของขั้นตอนในการไปศึกษาต่อ การสมัครเรียนกับทางมหาวิทยาลัยที่อเมริกา และการเตรียมตัวก่อนเดินทาง ขั้นตอนแรกหลังจากที่ได้รับทุนศึกษาต่อแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นทุน ก.พ. หรือ พ.ก.) ก็ต้องรีบหามหาวิทยาลัยที่ต้องการจะไปศึกษาต่อในสาขาที่ตนเองต้องการ (ตรงนี้สามารถไปสอบถามที่ ก.พ. ได้) ควรจะเลือกไว้อย่างน้อยสัก 3-5 แห่ง (บางคนสมัครไว้กันพลาดเป็นสิบแห่งก็มี) จากนั้นต้องเข้าไปดูใน website ของมหาวิยาลัยว่าเขามีหลักเกณฑ์ (requirements) อะไรกันบ้าง เพื่อความกระจ่างชัดก็ควรต้องมีการ email ไปหาเจ้าหน้าที่ของคณะที่เราต้องการสมัครด้วย เพื่อให้รู้แน่ชัดเกี่ยวกับคุณสมบัติที่เขาต้องการ ถ้าจะให้ดีก็ต้อง email ไปหาอาจารย์ที่มหาวิยาลัยของเขาสักคนสองคน เผื่อว่าเขาจะมีข้อแนะนำดีๆ หรือเขาอาจจะเป็นคณะกรรมการคัดเลือก (Selection Committee) ก็เป็นได้ จากประสบการณ์ส่วนตัว การทำให้เขาเห็นเรามากขึ้น (Visibility) ถือว่าสำคัญมากๆในการสมัครเรียน หลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยอเมริกาทั่วไป ก็จะมีใบสมัคร เงินค่าสมัคร (ราวๆ 50-80ดอลลาร์) เกรดเฉลี่ย (ใช้ Transcript) คะแนนการสอบ Toefl และ GRE, หนังสือจากอาจารย์ที่เมืองไทย (Recommendation Letter) และแถลงความจำนงค์ไปศึกษาต่อ (Statement of Purpose) โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าควรจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องของคะแนน Toefl, Recommendation Letter และ Statement of Purpose เกรดเฉลี่ยนั้นเรากลับไปแก้มันไม่ได้แล้ว ส่วนคะแนน GRE นั้นส่วนมากฝรั่งจะเข้าใจว่าข้อสอบมันยากมากและคะแนนของเด็กต่างชาติก็มักจะไม่ดี (ดังนั้นเราจึงต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเองด้วยเช่นกัน) หลังจากที่รวบรวมเอกสารทุกอย่างครบแล้ว ต้องดูห้วงเวลาการส่งเอกสารให้ดีเนื่องจากมหาลัยแต่ละแห่งจะมี Deadline ไม่ตรงกัน หลังจากส่งเอกสารไปแล้ว ก็คงต้องแล้วแต่บุญแต่กรรมว่ามหาวิยาลัยจะตอบรับมาหรือไม่ ช่วงนี้ใครอยากไปทำบุญกัน 9 วัดก็คงไม่ว่ากัน หากคุณโชคดี มหาวิทยาลัยตอบรับ คุณก็จะได้รับเอกสารตัวหนึ่งที่เขาเรียกว่า I-20 (สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัว) หรือ DS-2019 (สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล) แล้วคุณก็ต้องนำเจ้าเอกสารตัวนี้ไปขอออก Visa จากสถานทูตอเมริกันได้ เท่านั้นคุณก็จะได้บินเหิรฟ้าไปเรียนที่อเมริกาสมความปรารถนา
สำหรับคำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวก่อนไปนั้น มีแค่ 2 ประโยคครับคือ 1) “เตรียมใจ” 2) “ทำทุกอย่างที่คุณคิดว่าจะไม่ได้ทำที่โน่น” ที่ว่าเตรียมใจก็คือ เตรียมไปเจอเพื่อนใหม่ ที่อยู่ใหม่ ภูมิอากาศใหม่ อาหารใหม่ การเรียนแบบใหม่และที่สำคัญคือภาษาใหม่ ส่วนที่ว่าทำทุกอย่างที่คุณคิดว่าจะไม่ได้ทำที่โน่นนั้นผมหมายถึง ถ้าคุณอยากเที่ยว ก็ให้เที่ยวให้สุดๆที่เมืองไทย อยากกินอาหารไทยก็กินไปเสียให้เต็มที่ เพราะที่โน่นจะหาอาหารไทยหรือที่เที่ยวแบบดีๆถูกๆคงจะหายาก ผมขอแนะนำว่าไม่ต้องเตรียมอะไรไปมากมายโดยเฉพาะเสื้อผ้า เสื้อผ้าที่โน่นราคาถูก โดยเฉพาะเวลา Sale และคุณภาพดี เวลาเข้าเครื่องอบแล้วไม่หด ที่ควรเตรียมอาจจะเป็นประเภทอาหารแห้ง (เช่น เครื่องแกงผง) รวมทั้งเครื่องเขียน ซึ่งที่อเมริกาถือว่าแพงมาก สุดท้ายก็คงอยากจะฝากในเรื่องของการเตรียมภาษาอังกฤษ หากคุณมีความพร้อมก่อนไปเท่าไร คุณก็จะยิ่งสามารถซึมซับความรู้ต่างๆได้เร็วขึ้นเท่านั้น ผมคงจะไม่สามารถสาธยายข้อแนะนำทั้งหมดลงในพื้นที่อันจำกัดนี้ได้ หากใครที่จะสนใจไปเรียนต่อ ก็ขอเชิญสอบถามได้ที่ potipiroon@gmail.com ครับ

ประสบการณ์การเรียนต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา 1

ก่อนอื่นก็คงต้องขอแนะนำตัวเองก่อนนะครับ ผมนายวิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักยุทธศาสตร์และส่งเสริมการบริหาราชการอำเภอ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ที่ขึ้นชื่อหัวเรื่องว่าเอ็กซ์นั้นอย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ  นั่นเป็นชื่อเล่นของผม ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้วนะครับที่ผมได้มีโอกาสมาพบปะพี่น้องชาวปกครองผ่านนิตยสารเทศาภิบาล ย้อนกลับไปเมื่อ ๒ ปีที่แล้วตอนที่เพิ่งได้รับทุนการศึกษาจาก ก.พ.ให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารเทศาภิบาลไปแล้ว ๑ ครั้งเกี่ยวกับการได้รับทุน เมื่อกลับมาคราวนี้จึงมีเรื่องราวการไปศึกษาต่อ ที่อยากจะนำมาเล่าให้พี่ๆเพื่อนๆและน้องๆได้ฟังกันหลายเรื่องทีเดียว เลยขึ้นหัวข้อเรื่องเสียน่าสนใจว่า“ประสบการณ์เอ็กซ์ๆ ณ ต่างแดน”
หากมองย้อนกลับไป ผมคงต้องบอกว่าประสบการณ์ในช่วง ๒ ปีที่สหรัฐอเมริกา เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากจริงๆ มันทำให้ผมมองเห็นโลกในมุมมองใหม่ในแนวกว้างมากขึ้น (Wider Perspective) รวมไปถึงการได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เรามองเห็นภาพขององค์กรในมุมมองที่ชัดเจนมากและเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนั้น มันก็มีทั้งเรื่องที่สนุก ตื่นเต้น น่าประทับใจ รวมทั้งเรื่องเศร้า และเรื่องเฉิ่มๆ คละเคล้ากันไป
ย้อนความกลับไปนิดหนึ่งว่าตอนที่ให้สัมภาษณ์ลงเทศาภิบาลไปเมื่อ ๒ ปีที่แล้วนั้น ยังไม่ทราบเลยว่าตัวเองจะต้องไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยใดเนื่องจากอยู่ในช่วงของการรอผลการตอบรับจากทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สมัครไป พอทราบว่ามหาลัย Cornell ตอบรับก็รู้สึกดีใจมากๆ เพราะเป็นอันดับแรกที่เลือกเอาไว้ มหาวิยาลัย Cornell ตั้งอยู่ที่เมือง Ithaca มลรัฐนิวยอร์ก เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาทั้งในด้าน Science (วิทยาศาสตร์) และด้าน Social Science (สังคมศาสตร์) และได้ชื่อว่ามี campus ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ต้องเรียนว่าเมื่อเดินทางไปถึงที่นั่นแล้วไม่รู้สึกผิดหวังเลยเพราะสวยจริงตามคำร่ำลือ มหาวิยาลัยฯตั้งอยู่บนภูเขา มีน้ำตกไหลผ่านกลาง campus รวมทั้งอยู่ติดกับทะเลสาบ ตึกเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (Facilities) เช่นห้องสมุด ก็มีความทันสมัย ในขณะเดียวกันก็ดูมีมนต์ขลังและเก่าแก่สมเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League บรรยากาศที่นั่นช่างเหมาะกับการเรียนหนังสือเสียเหลือเกิน เพราะเป็นเมืองเล็กๆที่ไม่วุ่นวายและมีธรรมชาติสวยงามมาก อากาศที่นั่นเรียกได้ว่าหนาวมากถึงมากที่สุด ว่ากันว่าหากนักเรียนคนใดไม่เคยลื่นล้มเพราะหิมะที่จับตัวเป็นน้ำแข็ง แปลว่าไปเรียนไม่ถึง Cornell (ผมเองก็เคยลื่นหงายท้องมาแล้ว!) เมือง Ithaca นั้นหนาวมากถึงประมาณ 8 เดือนต่อปีต่อปีเลยทีเดียว ดังนั้นในช่วงหน้าหนาวนักเรียนส่วนมากจึงมักเก็บตัวอยู่ในบ้านพักและใช้เวลาในการอ่านหนังสือกันเสียเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นก็ดีก็ยังไม่วายเว้นที่จะหาเรื่องสนุกๆทำกันในช่วงว่างหลังการสอบ
วันที่ไปถึงวันแรกโชคดีที่มีพี่นักเรียนคนไทยให้ความอนุเคราะห์ขับรถไปรับถึงที่สนามบิน แต่ช่วงแรกๆก็ยังรู้สึกงงๆอยู่ดีว่าจะต้องเริ่มทำอะไรก่อน จำได้ว่าตอนนั้นยังไม่พร้อมสักอย่าง (นี่ขนาดคิดว่าเตรียมตัวไปพร้อมมากๆแล้ว) รวมทั้งยังไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จะกินข้าวอะไร ที่ไหน จะทำเองก็ไม่อร่อย ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้ ไม่แน่ใจว่าจะโทรกลับเมืองไทยอย่างไร ที่สำคัญยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เลยไม่รู้จะติดต่อครอบครัวและเพื่อนๆอย่างไร เรียกว่ามึนอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน ประกอบกับตอนนั้นยัง Jet Lag อยู่ (อาการหลับไม่เป็นเวลาอันเกิดจากการเดินทาง) เลยนอนลูกเดียวเลย พอเริ่มตั้งสติได้ ประมาณ ๒-3 วัน จึงเริ่มออกเดินตระเวนรอบๆ campus ของมหาวิทยาลัย ด้วยตนเอง โชคดีว่าพอพูดภาษาอังกฤษได้และพกแผนที่มหาวิทยาลัยมาด้วย เลยเดินคุยกับฝรั่งคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย ถามโน่นถามนี่ จนพอเริ่มได้ idea ว่าต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ก็ยังคงรู้สึกเหงามากๆอยู่ดี เฝ้าคิดแต่ว่าจะเริ่มมีเพื่อนกับเขาเมื่อไหร่ สุดท้ายเหงาอยู่ได้แค่อาทิตย์เดียว ก็เริ่มถูกนำเข้าไปรู้จักเพื่อน พี่ๆ น้องๆ คนไทยที่ไปเรียนอยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผมได้เรียนรู้ว่านักเรียนไทยเขาดำเนินชีวิตกันอย่างไร รวมทั้งได้กินอาหารไทยอร่อยๆด้วย ตอนนั้นเลยรู้สึก happy มากๆว่าไม่ต้องหิวตายแล้ว
ที่นั่นมีนักเรียนไทยอยู่ประมาณกว่า ๑๐๐ ชีวิต นักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่ Cornell จะได้เงินประจำเดือนประมาณเดือนละ ๑,๑5๐ ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าไม่มากมายนักสำหรับการใช้ชีวิตในอเมริกา แต่ก็ไม่น้อยเกินไปหากอยู่อย่างพอเพียง เอาเป็นว่าสามารถเก็บตังค์เที่ยวได้สบายก็แล้วกันถ้าหากประหยัดหน่อย ตัวผมเองก็จ่ายค่าเช่าบ้านประมาณเดือนละ 45๐ ดอลลาร์ ค่าโทรศัพท์ ค่า Internet และค่า Cable รวมแล้วประมาณ ๑๐๐ ดอลลาร์ ค่ากินอยู่เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 3๐๐ ดอลลาร์ เบ็ดเสร็จแล้วเดือนๆหนึ่ง ก็พอจะมีเงินเหลือเก็บอยู่บ้าง
ชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนไทยที่นั่นก็เป็นปกติเหมือนกับนักเรียนที่เมืองไทยนี่หละ ก็คือเช้าก็ไปเรียน เย็นก็กลับมาบ้าน ตอนแรกคิดว่าทุกคนคงจะเป็นเด็กแก่เรียนมากๆ (Geek) แต่จริงๆหาเป็นเช่นนั้นไม่ จริงๆก็เหมือนพวกเราทุกคนเนี่ยหละ ทั้งเรียนทั้งเล่น เพียงแต่ว่าทุกคนจะมีวินัยและความรับผิดชอบในการเรียนสูงมาก โดยเฉพาะพวกที่เรียนปริญญาเอก ที่ต้องทำหน้าที่เป็น Teaching หรือ Research Assistant (ผู้ช่วยสอนหรือทำวิจัย) ต้องมีความรับผิดชอบในการเรียนและการทำงานวิจัยสูง ช่วงสอบเรียกได้ว่า หายหัวกันไปหมด ขลุกกันอยู่แต่ในห้องสมุด พอว่างก็มาจอยกัน มาทำกับข้าวกินและดื่มสังสรรค์กัน เวลามีงานประเพณีของไทยก็จะมาร่วมสนุกกันตามประสา ส่วนพวกเด็ก MBA (Master of Business Administration) รวมไปถึงคณะ HR (Human Resource) ของผมก็จะวุ่นกันอยู่กับการทำงานกลุ่ม (Team Project) เสียเป็นส่วนใหญ่
ในเทอมแรกตอนปี 2005 นั้นจำได้ขึ้นใจว่าการเดินเท้าไปเรียนเป็นอะไรที่หฤโหดสุดๆ จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ไกลอะไรมากหรอกนะครับ แค่ 20 นาทีเอง ถึงแม้จะมีรถประจำทางให้นั่ง คนส่วนมากโดยเฉพาะคนอเมริกันเขาก็ใช้วิธีการเดินเท้ากันทั้งนั้น แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือเรื่องของอากาศที่สุดแสนจะบรรยาย คือหนาวกันถึงขั้นที่ว่าไม่รู้ว่าหูตัวเองอยู่ที่ไหน ชาไปทั้งหน้าจนพูดไม่ออก น้ำมูกไหลเต็มไปหมด ถ้าอยู่ข้างนอกนานๆก็อาจจะถึงขั้นเป็นแผลหิมะ (Frostbite) ได้ ก็เลยต้องคอยระวังเหมือนกัน คิดกลับไปแล้วก็อดขำตัวเองไม่ได้ว่าเดินเข้าไปได้อย่างไรตั้ง 1 เทอม สุดท้ายก็เลยหันมาขึ้นรถประจำทางแทนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ส่วนมากนักเรียนไทยจะทำอาหารทานกันที่บ้าน โดยไปซื้อของชำมาจากร้านจีน (Oriental Store) ซึ่งจะมีอาหารแห้ง ผัก และเครื่องปรุง ทุกอย่างที่คุณอยากได้ จะออกไปทานอาหารนอกบ้านมื้อค่ำบ้างก็อาทิตย์ละ ๒-3 หน หรือบางคนก็ไม่ไปทานข้าวข้างนอกเลยจะได้ประหยัดตังค์ ร้านสุดฮิตสำหรับอาหารกลางวันก็คงจะหนีไม่พ้นอาหารจีน ซึ่งมีรสชาติใกล้เคียงกับอาหารไทยและราคาย่อมเยา (ประมาณ 5 ดอลลาร์สำหรับข้าวและกับข้าว ๒ อย่าง) ที่อเมริกานั้นอาหารไทยถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มอาหารต่างประเทศแนวหน้าเลยที่เดียว เฉพาะที่เมือง Ithaca ก็ปาเข้าไป 5 ร้านแล้ว นอกนั้นก็จะมีอาหารญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และอินเดีย สำหรับตัวผมเองนั้น ขอยอมรับว่าไม่ถนัดเรื่องการทำอาหารทานเองเลย เพราะทำไม่อร่อยเอามากๆ เรียกว่าทานเกือบไม่ลง รู้สึกว่าจะพอเริ่มมีฝีมือกับเขาบ้างก็เมื่อผ่านพ้นไปตั้ง ๑ ปีแล้ว ประกอบกับตอนนั้นเรียนหนัก เลยผอมไปเยอะเหมือนกัน อาหารที่ทำบ่อยๆก็ไม่พ้นอาหารตระกูลไข่  ที่อร่อยมากๆนี่ก็คือไข่ลูกเขย แต่ก็พยายามทำให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ต้องบอกว่ามั่นใจเรื่องทำอาหารขึ้นเยอะเป็นกอง
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะนำมาเล่าให้ฟังก็คือเรื่องของ Technology จำได้ว่าตอนที่มีโอกาสเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน (Exchange Student) การติดต่อสื่อสารลำบากกว่าในปัจจุบันนี้มาก จะโทรศัพท์กลับเมืองไทยแต่ครั้งก็แพงเหลือหลาย เลยใช้วิธีการเขียนจดหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ ข่าวสารบ้านเมืองและโทรทัศน์ละครไทยต่างๆก็ไม่มีโอกาสได้ดูเลย ตอนนั้น Internet ก็เพิ่งจะเริ่มเป็นที่ใช้กันจึงช้าและไม่มีข้อมูลอะไรให้ดูมากนัก แต่มาในวันนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วจากหน้ามือเป็นหลังมือ เดี่ยวนี้การโทรศัพท์จากอเมริกากลับมาเมืองไทยหาได้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอีกต่อไปไม่ ค่าโทรผ่าน Calling Card ก็แค่ประมาณนาทีละ ๒-5 cents หรือตกไม่เกินนาทีละ ๒ บาทไทย Internet ที่อเมริกาเดี๋ยวก็ high-speed เอามากๆ สามารถดูรายการโทรทัศน์ไทยผ่านทาง website ได้แบบสบายๆ (เช่น doozija.com, obizgo.com) พอว่างๆยังได้มีโอกาสมานั่งดูละครและรายการไทย ทั้งที่เมื่อก่อนตอนอยู่ที่เมืองไทยแทบจะไม่ได้มีโอกาสดูเลย นอกจากนั้นข่าวสารบ้านเมืองเดี๋ยวนี้ก็รวดเร็วทันใจแบบ real time เลยก็ว่าได้ ตอนที่มีการประท้วงในกรุงเทพฯ และการก่อรัฐประหาร พวกเราทางโน้นก็มิได้ตกข่าวไปแม้สักวินาทีเดียว ได้ check ข่าวทาง Internet กันตลอด บางทียังทราบข่าวเร็วกว่าเพื่อนๆในเมืองไทยเสียด้วยซ้ำไป คอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตผมที่นั่นเป็นอย่างมากเพราะเปรียบเสมือนหน้าต่างที่เปิดตัวเองสู่ข้อมูลและโลกแห่งการสื่อสารชีวิตส่วนมากจึงอยู่แต่กับหน้า Laptop เสียเป็นส่วนใหญ่ ขนาดบางทีกำลังทำอาหารยังยืนคุยกับเพื่อนๆที่เมืองไทยผ่านทาง MSN เลย เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าการสื่อสารในสมัยนี้สะดวกมากจริงๆ ทำให้เรารู้สึกใกล้บ้านมากขึ้นเยอะเลย
สมัยนี้การเดินทางในอเมริกาก็สะดวกสบายเอามากๆเช่นกัน เราสามารถจองตั๋วเครื่องบินผ่าน Website ได้ (Online Booking) เช่น ผ่านทาง expedia.com, travelocity.com หรือ cheaptickets.com ไม่ต้องโทรจองกับพนักงานตอบรับให้เสียเวลาอีกต่อไป เมื่อจองเสร็จแล้วก็สามารถ print ตั๋วได้เอง เสร็จแล้วก็ใช้เป็น E-ticket ได้เลย เวลาถึงที่สนามบินก็ไม่ต้องไปรอต่อแถว check-in กับเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อรับ Boarding Pass ให้เสียเวลา เราสามารถใช้บัตร Credit card ของเรารูดที่เครื่อง check-in เพื่อแสดงตน (Identity) ได้ทันที นอกจากนั้นตอนนี้ก็มี Low-Cost Airline (สายการบินราคาถูก) อยู่หลายสายการบิน เช่น Jetblue ทำให้เราสามารถเดินทางในอเมริกาได้ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก
อีกสิ่งหนึ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง ก็คือข้อมูลมหาศาลที่ปรากฏอยู่บน Internet สมัยก่อนนักเรียนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ค้นหาข้อมูลอยู่ในห้องสมุด แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆผ่าน Internet ได้อย่างง่ายดายแค่เพียงปลายนิ้ว ชีวิตการเรียนและการหาข้อมูลของผมกว่าครึ่งได้ฝากไว้ที่ search engine ที่ชื่อ “Google” ที่ทุกคนคงจะรู้จักกันดี ไม่ว่าผมอยากจะได้ข้อมูลอะไรก็จะใช้เจ้า Google เนี่ยล่ะในการหาข้อมูล จนเดี๋ยวนี้ Google ไม่ได้เป็นแค่เพียงชื่อของ “search engine” เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นคำกิริยาไปแล้วจนมีประโยคฮิตติดปากที่ว่า “Just google it” (ก็แค่ไปค้นหาในกูเกิ้ลดูสิ!) นอกจากนั้นในปัจจุบันนี้ก็ยังมี “open source” website ต่างๆ เช่น Wikipedia ที่รวมข้อมูลแทบทุกอย่างในโลกเอาไว้ ในแทบทุกภาษา และเป็น website ที่ผู้อ่านสามารถเข้าไปเปลี่ยนแก้ไขข้อมูล (Update) ได้เอง ที่ Cornell เอง ก็มี access กับฐานข้อมูล (database) ต่างๆ ที่มีบทความ (articles) ที่น่าสนใจเก็บไว้มากมาย เช่น วารสาร Harvard Business Review รวมทั้งหนังสือ online ต่างๆ เดี๋ยวนี้อาจารย์ที่อเมริกาเขาติดต่อกับนักเรียนผ่านทาง email เวลาที่จะมอบหมายบทความหรือเอกสารประกอบการเรียน (class handout) ให้นักเรียนอ่านก็จะนำไป upload ไว้ที่ website ทำให้การสื่อสารถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งทำให้การเรียนการสอนในปัจจุบันนี้ง่ายขึ้นเยอะ
คิดว่าฉบับนี้คงจะมีพื้นที่ให้เขียนเพียงเท่านี้ ฉบับหน้าผมจะกลับมาพูดถึงมุมมองเกี่ยวกับการเรียนการสอน มุมมองต่อชาติอื่น/เพื่อนต่างชาติ ประโยชน์ที่ได้รับ/เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับเมืองไทย และที่สำคัญก็คือ ขั้นตอนการสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยที่อเมริกา รวมไปถึงการเตรียมตัวก่อนเดินทาง